วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

ความจริงของชีวิต

ความจริงของชีวิต
(หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด)
เรื่องสำคัญยิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนาคือเรื่องหลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า The Law of Karma and Rebirth
ความเข้าใจเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดจะช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้ทุกแง่ทุกมุม ทำให้ไม่ต้องน้อยใจในชะตาชีวิตของตนและไม่ริษยาความสุขของผู้อื่น เพราะได้เห็นแจ้งแล้วว่า ความสุขทุกข์ รุ่งเรือง หรือล้มเหลวในชีวิตของแต่ละคนนี้เป็นผลรวมแห่งกรรมของตน หรือกรรมแห่งหมู่คณะของตนเป็นต้น
เรื่องกรรม ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ความแตกต่างกันในเรื่องอุปนิสัยใจคอของคน แม้อยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวกันและมีมารดาบิดาเดียวกัน ได้รับการอบรมอย่างเดียวกัน  
ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเรื่องกรรม ทำให้บุคคลมีน้ำอดน้ำทน มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ท้อถอย มีความเพียรสั่งสมกรรมดีขยาดต่อกรรมชั่ว ไม่ตีโพยตีพายเมื่อผิดหวัง และไม่ระเริงหลงในเมื่อประสบผลดี เราะมารู้แจ้งว่าผลทุกอย่างย่อมมีมาเพราะเหตุ
เรื่องกรรมช่วยให้บุคคลกล้าเผชิญชีวิตอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว สามารถมองเห็นแง่ดีแม้ของความผิดหวัง หรือส่งที่เรียกกันว่าโชคร้าย เพราะแจ่มแจ้งว่า มันเป็นการใช้หนี้กรรมอย่างหนึ่ง ทำให้เรือชีวิตเบาขึ้น ทำให้แล่นไปข้างหน้าได้รวดเร็วขึ้น เหมือนบุคคลมีหนี้สิน เมื่อได้ใช้หนี้ไปเสียบ้าง ย่อมทำให้สบายใจขึ้น เบาใจขึ้น
หลักกรรมจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีการเกิดใหม่หรือการเวียนว่ายตายเกิด เพราะมีปัญหาชีวิตหลายอย่างที่ไม่อาจเข้าใจได้ ถ้าปราศจากการเวียนว่ายตายเกิดหรือที่เรียกว่า สังสารวัฏเช่นปัญหาเรื่องคนดีบางคนมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน และคนชั่วบางคนมีชีวิตอยู่อย่างสุขสำราญเป็นต้น ปัญหานี้จะเป็นเรื่องค้างโลกถ้ากฎแห่งกรรมและการเกิดใหม่ไม่เข้ามาช่วยแก้
อนึ่ง ช่วงชีวิตเพียงช่วงเดียวของบุคคลสั้นเกินไปไม่เพียงพอพิสูจน์กรรมที่บุคคลทำไว้แล้วได้ทั้งหมด การเกิดใหม่จะช่วยอธิบายกรรมในอดีตของคนได้อย่างดีที่สุด ดังนั้นชีวิตมนุษย์จึงเป็นสนามหรือเวทีสำหรับทดลองแรงกรรม ว่าใครได้ทำกรรมอะไรไว้มา น้อย เบาบาง หรือรุนแรงเพียงใด
                ด้วยประการฉะนี้ การศึกษาให้รู้แจ้งในเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีผลเป็นความสุข สงบแก่ผู้ศึกษาเรียนรู้ มีประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตจิตใจให้สูงขึ้นร่มเย็นและทำให้เห็นว่าการเกิดของเรามีความหมาย ไม่ใช่เกิดมาโดยบังเอิญ มีชีวิตอยู่อย่างหลักลอยปล่อยตัวและตายไปอย่างน่าสมเพชเวทนา
                เรื่องกรรม และการเวียนว่ายตายเกิดทำให้บุคคลหายงมงายหายตื่นเต้นต่อความขึ้นลงของชีวิต ช่วยคลี่คลายความข้องใจในความสับสนของชีวิต เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งเพื่อชีวิต เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา ความเรียนรู้และทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งเพื่อชีวิตของตนเองจะได้ดีขึ้นและทำผู้ใกล้ชิด เช่น บุตรหลาน หรือบริวารชนให้มีความเข้าใจในปัญหาชีวิตของตน
                ครู ผู้สอนวิชาศาสนาหรือวิชาอื่นใดก็ตามควรย้ำให้นักเรียนเข้าใจและเชื่อมั่นในเรื่องหลักกรรมและสังสารวัฎเพราะอันนี้คือพื้นฐานอันจะทำให้ศีลธรรมมั่นคงในจิตใจของเยาวชนเหล่านั้น
                ต่อไปนี้เป็นพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7 แห่งบรมจักรีวงศ์)
สำหรับพระพุทธศาสนานั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าสิ่งที่เราควรจะสอนให้เข้าใจแลบะให้เชื่อมั่นเสียตั้งแต่ต้นทีเดียวคือสิ่งที่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา นั่นคือ วัฏฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิดและกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนาเพราะหนทางปฏิบัติของพุทธศาสนาก็เพื่อให้พ้นจากวัฏฏสงสาร อันเป็นความทุกข์แต่สิ่งที่ดีประเสริฐยิ่งนั้นคือความเชื่อในกรรม แต่จะสอนแต่เรื่องกรรมอย่างเดียว ไม่สอนเรื่องวัฏฏสงสารด้วยก็ไม่สมบูรณ์
                ความเชื่อในกรรม ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นของประเสริฐยิ่งควรเพาะให้มีขึ้นในใจของคนทุกคน และถ้าคนทั้งโลกเชื่อมั่นในกรรมแล้ว มนุษย์ในโลกจะได้รับความสุขใจขึ้นมาก เป็นสิ่งที่ทำให้คนขวนขวายทำแต่กรรมดีโดยหวังผลที่ดี เรื่องวัฏฏสงสารและกรรมนี้เป็นของต้องมีความเชื่อ เพราะเป็นของที่น่าเชื่อกว่าความเชื่ออีกหลายอย่าง
                ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า ถ้าคนเราเชื่อกรรมจริง ๆ แล้ว ควรจะได้ความสุขใจไม่น้อย โดยที่ไม่ทำให้รู้สึกท้อถอยอย่างไร
                ข้าพเจ้าเห็นว่า เราควรพยายามสอนเด็กให้เชื่อมั่นในกรรมเสียแต่ต้นทีเดียว ยิ่งให้เชื่อได้มากท่าไรยิ่งดี ควรให้ฝังเป็นนิสัยทีเดียว

กฎแห่งกรรม

                หลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า บุคคลทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เขาย่อมต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้นแต่เนื่องจากกรรมบางอย่างหรือการกระทำบางคราวไม่มีผลปรากฏชัดในทันที ผู้มีปัญญาน้อยจึงมองไม่เห็นผลแห่งกรรมของตน ทำให้สับสนและเข้าใจไขว้เขว เพราะบางทีกำลังทำชั่วอยู่แท้ ๆ มีผลดีมากมาย เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หลั่งไหลเข้ามาในชีวิต ตรงกันข้ามบางคราวกำบังทำความดีอยู่อย่างมโหฬาร แต่กลับได้รับความทุกข์ทรมานต่าง ๆ มีผลไม่ดีมากมาย เช่น ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้ายถูกสบประมาท และความเจ็บไข้ได้ป่วยหลั่งไหลเข้ามาในชีวิต
                ความสลับซับซ้อนดังกล่าว ทำให้ผู้รับผลของกรรมสับสน เกิดความไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นความชั่วจริง ๆ หรือ ?
                ตามความเป็นจริงแล้ว กรรมชั่วที่เขากำลังทำอยู่ยังไม่ทันให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำไว้ก่อนถึงวาระให้ผลในขณะที่คนผู้นั้นกำลังทำชั่วอยู่ จึงทำให้เขาได้รับผลดีถ้าเปรียบทางวัตถุก็จะมองเห็นง่ายขึ้น เช่นคน ๆ หนึ่งกำลังปลูกต้นไม้อันเป็นพิษอยู่ มีผลไม้หอมหวานอร่อยสุกมากมายในสวนของเขา  เขาได้ลิ้มรสอันอร่อยของผลไม้ซึ่งเขาปลูกไว้ก่อน ต่อมาต้นไม้มีพิษออกผลในขณะที่เขากำลังปลูกต้นไม้ที่มีผลอร่อยอยู่ เขาบริโภคผลไม้มีพิษ รู้สึกได้รับทุกเวทนาข้อนี้ฉันใด กรรมกับผู้กระทำกรรมก็ฉันนั้น กรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่ว แต่เพราะกรรมจะให้ผลก็ต่อเมื่อสุกเต็มที่แล้ว (Maturation) และมีความสลับซับซ้อนมาก จึงทำให้งง ทั้งนี้ สามเหตุหนึ่งก็เพราะสติปัญญาของคนทั่วไปมีอยู่อย่างจำกัดมาก เหมือนแสงสว่างน้อย ๆ ไม่พอที่ส่องให้เห็นวัตถุอันสลับซับซ้อนอยู่มากมายในบริเวณอันกว้างใหญ่และบริเวณนั้นถูกปกคลุมอยู่ด้วยความมืด เมื่อใดดวงปัญญาของเขาแจ่มใสขึ้น เขาย่อมมองเห็นตามเป็นจริง ปัญญาของเขายิ่งแจ่มใสขึ้นเพียงใดเขาย่อมสามารถมองเห็นเรื่องกรรมและความสบับซับซ้อนของชีวิตมากขึ้นเพียงนั้น เหมือนแสงสว่างมีมากขึ้นเพียงใด ผู้มีจักษุปกติย่อมสามารถมองเห็นวัตถุอันละเอียดมากขึ้นเพียงนั้น
                สิ่งใดที่ละเอียดมาก เช่น จุลินทรีย์ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์เขาใช้เครื่องมือคือกล้องจุลทรรศน์ซึ่งมีอานุภาพขยายเป็นพัน ๆ เท่าของวัตถุจริง จึงทำให้มองเห็นได้ สิ่งใดอยู่ไกลมากระยะสายตาธรรมดาไม่อาจทอดไปถึงได้นักวิทยาศาสตร์เขาใช้กล้องส่องทางไกล จึงสามารถมองเห็นได้เหมือนวัตถุซึ่งปรากฏอยู่ ณ ที่ใกล้ข้อนี้ฉันใด
                ผู้ได้อบรมจิตและปัญญาแล้วก็ฉันนั้น เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางจิต สามารถเห็นได้ละเอียดรู้ได้ไกลซึ่งเรื่องกรรมและผลของกรรม ชนิดที่สามัญชนมองไม่เห็นหรือมองให้เห็นได้โดยยาก ทั้งนี้ เพราะท่านมีเครื่องมือคือปัญญาหรือญาณสามัญชนไม่มีปัญญาหรือญาณเช่นนั้นจึงมองไม่เห็นอย่างที่ท่านเห็น เมื่อท่านบอกให้บากคนก็เชื่อตาม บางคนไม่เชื่อ ใครเชื่อก็เป็นประโยชน์แก่เขาเองทั่งด้านการดำเนินชีวิตและจิตใจ หาความสุขได้เอง
                ผู้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ได้กำไรกว่าผู้ไม่เชื่อคือทำให้เว้นชั่ว ทำดีได้มั่นคง ยั่งยืนกว่าผู้ไม่เชื่อ ทำให้เป็นคนดีในโลกนี้ จากโลกนี้ไปแล้วก็ไปบีนเทิงในโลกหน้าเมื่อประสบปัญหาชีวิตอันแสบเผ็ดก็สามารถทำใจได้ว่า มันเป็นผลของกรรมชั่วเมื่อประสบความรื่นรมย์ในชีวิตก็ไม่ประมาท มองเห็นผลแห่งกรรมดีและหาทางพอกพูนกรรมดีต่อไป

                เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

                เรื่องนี้เป็นความจริงอย่างยิ่ง แต่ที่คนส่วนมากยังลังเลหรือเข้าใจผิดไปบ้างก็เพราะความสลับซับซ้อนของกรรมและการให้ผลของมัน การได้ดีหรือได้ชั่วนั้น ถ้าเอาวัตถุภายนอกเป็นเครื่องตัดสินก็ลำบากหน่อย ต้องรอคอยบางทีขณะที่กำลังรอคอยอยู่นั้น ผลของกรรมอื่นแทรก แซงเข้ามาเสียก่อน ยิ่งทำให้ผู้ทำกรรมซึ่งกำลังรอคอยผลอยู่นั้นงงและไขว้เขวไปใหญ่
               
ผลภายนอกและผลภายใน
ผลภายนอก คือ ผลที่ตนเองและคนอื่นมองเห็นได้ง่ายอย่างธรรมดาสามัญ เพราะมันมาเป็นวัตถุสิ่งของหรือสิ่งสมมติ เช่น ลาภยศ สรรเสริญ ความเพลิดเพลินความมีหน้ามีตาในสังคมเพราะมีทรัพย์เกื้อหนุนให้เป็นหรือในทางตรงกันข้าม เช่น เสื่อมทรัพย์ อัปยศ ถูกนินทา ติเตียน มีความทุกข์ต่าง ๆ รุมสุมเข้ามาเช่นความเจ็บป่วย ความต้องพลัดรากจากปิยชนมีบุตร ภรรยา (สามี) เป็นต้น
ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขนั้น คนทั้งหลายพากันฝังใจเชื่อว่าเป็นผลดีหรือผลของกรรมดี ส่วนเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาติเตียนและทุกข์นั้นเป็นผลชั่วหรือผลของกรรมชั่ว แต่ในชีวิตปัจจุบันที่เห็น ๆ กันอยู่หาได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่   ลาภอันให้เกิดขึ้นโดยทุจริต มิจฉาชีพก็ได้ โดยสุจริต สัมมาชีพก็ได้ ยศอาจเกิดขึ้น โดยประจบสอพลอก็ได้ โดยการประกอบการงานอย่างขยันมั่นเพียรก็ได้ สรรเสริญอาจเกิดขึ้นเพียงเพราะผู้สรรเสริญเข้าใจผิดหรือเพราะเป็นพวกเดียวกันมีอคติอยู่ในใจก็ได้เพราะมีคุณความดีจริง  ก็ได้ส่วนความสุข ความเพลิดเพลินนั้นเกิดขึ้นได้หลายวิธี สุดแล้วแต่ชอบ บุคคลชอบสิ่งใดเมื่อได้สิ่งนั้นตามปรารถนาก็รู้สึกสุข เพลิดเพลินไปพักหนึ่ง เมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป ไม่สมใจปรารถนาก็เป็นทุกข์
ในฝ่ายเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ทุกข์ ก็มีนัยเดียวกันกับฝ่ายลาภ ยศ คืออาจเกิดขึ้นเพราะการทำดีหรือทำชั่วก็ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ทำความดีโดยการบริจาคทรัพย์เพื่อสาธารณกุศลเป็นจำนวนล้าน ทรัพย์นั้นของเขาต้องลดจำนวนลง จะเรียกว่าเสื่อมลาภไม่ คนทำความดีอาจถูกถอดยศก็ได้ เมื่อทำไม่ถูกใจของผู้มีอำนาจให้ยศหรือถอดยศ คนทำดีอาจถูกติเตียนก็ได้ ถ้าคนผู้ติเตียนมีใจไม่เป็นธรรม หรืออคติจงใจใส่ร้ายเขา คนทำดีอาจต้องประสบทุกข์ได้เพราะต้องมีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำและความเจ็บใจ เช่น ความลำบากกายลำบายใจในการเลี้ยงดูบุตรและสั่งสอนบุตรให้เป็นคนดี ซึ่งท่านเรียกว่า ความทุกข์ที่ต้องลงทุน (Per-payment)
ผลภายนอกเป็นของไม่แน่นอนอย่างนี้ ถ้าถือเอาผลภายนอกมาเป็นเครื่องตัดสินผลของกรรมย่อมทำให้สับสนเพราะบางคราวผลที่เกิดขึ้นสมแก่กรรม แต่บางคราวไม่สมแก่กรรมเท่าที่บุคคลพอจะมองเห็นได้ในระยะสั้น
ส่วนผลภายใน คือ ผลที่เกิดขึ้นแก่จิตใจของผู้ทำเป็นผลที่แน่นอนกว่า คือ คนทำความดี รู้สึกตนว่าได้ทำความดีจิตใจย่อมผ่องใสขึ้น จิตสูงขึ้น ส่วนคนทำชั่วรู้สึกตนว่าเป็นคนทำชั่ว จิตย่อมเศร้าหมองไป อาการที่จิตเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วนั้นเองเป็นผลโดยตรงของกรรมดี กรรมชั่ว สุขทุกข์ของบุคคลอยู่ที่อาการเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วของดวงจิตมากกว่าอย่างอื่น ทรัพย์สิน สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ จะได้มามากเพียงใดก็ตาม ถ้าใจเศร้าหมอง ทุรนทุรายอยู่ด้วย โลภ โกรธหลงอยู่เสมอแล้ว สิ่งเหล่านั่นหาสามารถให้ความสุขแก่เจ้าของเท่าที่ควรไม่ ตรงกันข้ามกลับเป็นสิ่งให้ทุกข์เดือดร้อนเสียอีก ผู้มีใจผ่องแผ้วเต็มที่ เช่น พระอรหันต์ แม้ไม่มีทรัพย์สมบัติภายนอกที่ชาวโลกกรหายใด ๆ เลยแต่ท่านมีความสุขมากเป็นความสุขที่ไม่เจือด้วยทุกข์               

กรรม 12

                ในตอนนี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้รายละเอียดแห่งกรรมจึงขอกล่าวถึงกรรม 12 ซึ่งจัดตามหน้าที่จัดจามแรงหนักเบาและจัดตามกาลที่ให้ผล เมื่อทราบคำจำกัดความของกรรมประเภทต่าง ๆ แล้ว ผู้อ่านบางท่านอาจเข้าใจได้เลย บางท่านอาจยังไม่เข้าใจ ท่านที่ยังไม่เข้าใจก็อย่างเพิ่งใจร้อน ทำใจเย็น ๆ ไว้ก่อนและขอให้อ่านต่อไป จะเข้าใจได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

กรรมจัดตามหน้าที่มี 4

1.       ชนกกรรม กรรมที่ก่อให้เกิดหรือส่งให้เกิดในกำเนิดต่าง ๆ เปรียบเสมือนมารดาของทารก ชนก - กรรมนี้เป็นผลของอาจิณณกรรมบ้างของอาสันนกรรมบ้าง
2.       อุปถัมภกกรรม กรรมอุปถัมภ์ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงนางนม มีทั่งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี
3.       อุปิฬกกรรม กรรมบีบคั้น มีหน้าที่บีบคั้นกรรมดีหรือชั่วให้เพราะลง
4.       อุปฆาตกรรมหรืออุปัจเฉทกรรม กรรมตัดรอน มีหน้าที่ตัดรอนกรรมทั่งฝ่ายกุศลและอกุศล

กรรมจัดตามแรงหนักเบามี 4

1.       ครุกรรม กรรมหนัก ฝ่ายดีหนมายถึงฌาณ วิปัสสนา มรรค ผล ฝ่ายชั่วหนมายถึงอนันตริกรรม 5 คือ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต ทำสงฆ์ผู้สามัคคีกันให้แตกกัน
2.       อาติณณกรรมหรือพหุลกรรม กรรมที่ทำจนเคยชินหรือทำมาก ทำสม่ำเสมอ กรรมนี้จะให้ผลยั่งยืนมาก
3.       อาสันนกรรม- กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต มีอาจภาพให้บุคคลไปสู่สุคติหรือทุคติได้ ถ้าเขาหน่วงเอากรรมนี้เป็นอารมณ์ เมื่อจวนตาย
4.       กตัตตากรรมหรือตัตตาวาปนกรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือทำโดยไม่เจตนา

กรรมจัดตามกาลที่ให้ผลมี 4

1.       ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม- กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน
2.       อัปัชชเวทยีกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไปถัดจากชาติปัจจุบัน
3.       อปราปรเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลหลังจาก อุปัชชเวทนียกรรม คือ ให้ผลเรื่อยไปสบโอกาสเมื่อใด ให้ผลเมื่อนั้น
4.       อโหสิกรรม กรรมที่ไม่ให้ผล เลิกแล้วต่อกัน

รายละเอียดของกรรม 12

เมื่อกรรมนำไปปฏิสนธิในภพใหม่ คือ คนที่ทำกรรมดีไว้ย่อมไปเกิดในภพที่ดี คนทำกรรมชั่ว
ไว้มากไปเกิดในภพที่ชั่วกรรมที่ส่งให้เกิดนั้นเรียกว่า ชนกกรรม (ชนก = ให้เกิด) สมมติว่าชนกกรรมฝ่ายดีส่งเขาให้เกิดในตระกูลที่ดี มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินสมบัติและบริวาร มีตระกูลสูง เขาเกิดเช่นนั้นแล้วไม่ประมาท หมั่นหาทรัพย์เพิ่มเติม รักษาทรัพย์เก่าให้มั่นคง มีความเคารพนบนอบต่อผู้ควรเคารพ ถนอมน้ำใจบริวารด้วยการสงเคราะห์เอื้อเฟื้อ พูดจาไพเราะ ทำประโยชน์ให้และวางเหมาะสม การกระทำเช่นนั้นเป็นอุปถัมภกกรรม ช่วยส่งเสริมผลของกรรมดีเก่า รวมกับกรรมใหม่ ทำให้เขามั่งคั่งมากขึ้นมีบริวารดีมาขึ้น
                ตรงกันข้ามถ้าเขาได้ฐานะเช่นนั้นเพราะกุศลกรรมในอนาคตส่งผลให้แล้ว เขามัวเมาประมาท ผลาญทรัพย์สินด้วยอบายมุขนานาประการ มีเกียจคร้านทำการงานและคบมิตรเลวเป็นต้น กรรมของเขานั้นมีสภาพเป็นอุปปีฬก กรรมบีบคั้นเขาให้ต่ำต้อยลงจนสิ้นเนื้อประดาตัว บริวารก็หมดสิ้นถ้าเขาทำชั่วมากขึ้นกรรมนั้นจะกลายเป็นอุปฆาตกรรม ตัดรอนผลแห่งกรรมดีเก่าให้สิ้นไป กลายเป็นคนล่มจมสิ้นความรุ่งเรืองในชีวิต
                อีกด้านหนึ่งสมมติว่า บุคคลผู้หนึ่งเกิดมาลำบากยากเข็ญ ขันสนทั้งทรัพย์และบริวาร รูปร่างผิวพรรณก็ไม่งามเพราะอกุศลกรรมในชาติก่อน หลอมตัวเป็นชนก กรรมฝ่ายชั่ว เมื่อเกิดมาแล้วเขาประกอบกรรมชั่วซ้ำเข้าอีก กรรมนั้นมีสภาพเป็นอุปถัมภกกรรม ช่วยสนับสนุนกรรมเก่าให้ทวีแรงขึ้น ทำให้ฐานะของเขาทรุดหนักลงไปกว่าเดิม
                แต่ถ้าเขาผู้เกิดมาต่ำต้อยเช่นนั้นแล้ว ไม่ประมาทอาศัยความเพียรพยายามในทางที่ชอบ ถือเอาความอุตสาหะเป็นแรงหนุนชีวิตรูจักคบมิตรดี กรรมของเขานั้นมีสภาพเป็นปุปฬกกรรม - บีบคันผลของอกุศลกรรมเก่าให้เพลากำลังลง เขามีความเพียรในทางที่ชอบมากขึ้น ขวนขวายในทางบุญกุศลมากขึ้นกรรมของเขาแปรสภาพเป็นอุปฆาตกรรมหรืออุจเฉทกรรมตัดรอนผลแห่งอกุศลกรรมเก่าให้ขาดสูญ จนในที่สุดเขาเป็นคนตั้งต้นได้ดี มีหลักฐานมั่นคง
                ที่กล่าวมานี้ คือ กรรมที่จัดตามหน้าที่หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า หน้าที่ของกรรม ซึ่งมีลักษณะหน้าที่ให้เกิดอุปถัมภ์บีบคั้นและตัดรอน
                ส่วนกรรมที่ให้ผลและแรงหนักเบาของกรรมนั้นมีความสัมพันธ์กันมาก คือ กรรมหนัก (ครุกรรม) ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว จะให้ผลในปัจจุบันทันตาเห็น (ทิฆฐธัมมเวทนีย์) ส่วนกรรมที่เป็นอาจิณหรือพหุกรรมนั้น ถ้ายังไม่มีโอกาสให้ผลในชาติปัจจุบัน ก็จะยกยอดไปให้ผลในชาติถัดไป (อุปัชชเวทนีย์) และชาติต่อๆ ไป (อปราปรเวทนีย์) สุดแล้วแต่โอกาสที่ท่านเปรียบเหมือนสุนัขไล่เนี้อทัน เมื่อใดกัดเมื่อนั้น
                กรรมที่บุคคลทำเมื่อจวนสิ้นชีวิต (อาสันนกรรม) นั้น มักให้ผลก่อนกรรมอื่น เพราะจิตไปหน่วงอารมณ์นั้นไว้แน่นไม่ว่าเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว กรรมนั้นใกล้จุติจิตและใกล้ปฏิสนธิจิต ท่านว่าแม้บางคราวจะมีกำลังน้อยก็ให้ผลก่อนกรรมอื่นเปรียบเหมือนรถติดไฟแดง เมื่อไฟเขียวอันเป็นสัญญาณให้รถไปได้เปิดขึ้น รถคันหน้าแม้มีกำลังวิ่งน้อยก็ออกได้ก่อน พอผ่านสี่แยกไปแล้ว รถที่มีกำลังดีกว่าย่อมแซงขึ้นหน้าไปได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น